การพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษในจังหวัดกำแพงเพชร แบ่งเป็น ๕ รูปแบบ ดังนี้
๑. การจัดการศึกษาในศูนย์การศึกษาพิเศษ ลักษณะการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมของคนพิการ (Early Intervention) มีการให้บริการ ดังนี้
๑.๑) นักเรียนมารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร เน้นพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ โดยปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องรองรับการจัดการเรียนการสอน สำหรับการพัฒนาเด็กพิเศษในช่วงอายุ ประเภท และระดับความพิการของแต่ละบุคคล พัฒนาครูบุคลากรในด้านการประเมินระดับความสามารถผู้เรียน จัดกลุ่มทำแผน IEP การนิเทศติดตามด้วยกระบวนการ PLC ส่งเสริมครูผลิตสื่อการเรียนรู้ที่เข้าสู่ระบบ ICT ใช้ในการเรียนการสอนการพัฒนาเด็กพิการที่ศูนย์และให้ผู้ปกครองนำไปฝึกเด็กต่อที่บ้าน ติดตามการใช้งานแนะนำการแก้ไขปัญหาผ่าน Mobile Application พัฒนาแหล่งเรียนรู้เด็กพิการและกิจกรรมเสริมทักษะ ประกอบด้วย อาชาบำบัด ธาราบำบัด กายภาพบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด เกษตร - ชีววิถีบำบัด ห้องฝึกพูด ห้องสมุด ห้อง Multisensory Room ลานกระตุ้นพัฒนาการ ลานกีฬา ลานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษา ศูนย์ฝึกปฏิบัติงานและฝึกอาชีพนักเรียนพิการ ผู้ปกครองและผู้ดูแล ( เครื่องดื่ม กาแฟ ชา นมและขนม ) และการทอผ้าซาโอริ
๑.๒) หน่วยบริการระดับอำเภอ เป็นการกระจายโอกาสการเข้ารับบริการของเด็กนักเรียน
และผู้ปกครอง โดยจำลองรูปแบบศูนย์การศึกษาพิเศษไปตั้งในระดับอำเภอ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านอาคารสถานที่จากท้องที่ท้องถิ่น จัดตั้งองค์กรเพื่อการบริหารและประสานงานหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ อำเภอละ ๑ – ๒ หน่วยบริการตามศักยภาพและความพร้อมในระดับพื้นที่
๒. เด็กพิการตามบ้านที่มีลักษณะและระดับความพิการรุนแรงไม่สามารถเดินทางจากบ้านไป
รับบริการที่ศูนย์ฯ หรือที่หน่วยบริการได้ จึงได้จัด “โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” มีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทตามความต้องการจำเป็นพิเศษตามศักยภาพของเด็กพิการ ผู้ปกครอง และสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน แต่ละครอบครัว โดยจัดทำแผนการให้บริการช่วยเหลือ เฉพาะครอบครัว (IFSP)
๓. การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กพิการบกพร่องระดับที่สามารถเข้าเรียนได้
ในรูปแบบ การศึกษาเรียนรวม ในโรงเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษานอกระบบ และการอาชีวศึกษา
๓.๑) ส่งเสริมให้ความรู้การคัดกรองเด็กพิการ การจัดทำ IEP online เพื่อขอรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาในรูปแบบคูปองการศึกษา
๓.๒) จัดตั้งห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก ใน ๒ โรงเรียนๆละ 1 ห้องเรียน
๓.๓) การอบรม นิเทศ แนะนำ ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน การผลิตสื่อและวัดผลประเมินผลของนักเรียนพิการเรียนรวม ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ของระบบการศึกษาเพื่อคนพิการ
๔. พัฒนาการศึกษาแนว Education ๔.๐ ผ่านโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์ เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ
๕ รอบ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
๔.๑) ปี ๒๕๕๙ จัดอบรมเด็กพิการ เด็กปกติ และบุคคลทั่วไป ประกวดภาพถ่ายอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และภาพวาดตัวละครในวรรณคดีไทย บูรณาการการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรท้องถิ่น นำเข้าคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด oer.learn.in.th
๔.๒) ปี ๒๕๖๐ ได้รับมอบหมายจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาระบบการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ในโครงการเปิดประตูสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive society) “Stronger together, no one left behind” ด้วยรูปแบบการนำการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Path) การเปิดโลกอาชีพ (Career Path) และการรณรงค์เผยแพร่แนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal design)
๔.๓) จัดทำคลิปความรู้ด้านการศึกษาพิเศษ ได้แก่ สื่อความรู้เกี่ยวกับเด็กพิเศษ ภาษามือเบื้องต้น ความรู้ด้านกายภาพบำบัด อาชาบำบัด เป็นต้น
๔.๔) ผลิตสื่อให้ผู้ปกครองนำไปฝึกพัฒนาการเด็กที่บ้าน ชดเชยกรณีที่เด็กไม่สามารถมารับบริการ ที่ศูนย์ฯ ได้ ใช้สำหรับ Home Program
4.5) ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตสื่อแก้ไขการพูดภาษาไทยไม่ชัด จำนวน ๒๑ เสียง รวม ๒๗๓ คลิป นำเข้าคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resources : OER)
5. ปีการศึกษา 2562 จัดโครงการความร่วมมือ MOU การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนพิการ (ระดับการศึกษาภาคบังคับ) ในรูปแบบห้องเรียนสาขาจังหวัดกำแพงเพชร
5.1) ห้องเรียนสาขาโรงเรียนนครสวรรค์ปัญญานุกูล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แผนกบกพร่อง ทางสติปัญญา จำนวน 1 ห้องเรียน
5.2) ห้องเรียนสาขาโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ชั้นอนุบาล 3 แผนกบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ จำนวน 1 ห้องเรียน
ด้วยอุดมการณ์จัดการศึกษาสำหรับคนพิการในจังหวัดกำแพงเพชร ยึด ๓ หัวใจหลักการปฏิรูปการศึกษา ด้านพัฒนาคุณภาพ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อประชาสัมพันธ์ และจัด การศึกษาในรูปแบบต่างๆ ให้เด็กพิการ - เด็กด้อยโอกาสในจังหวัดกำแพงเพชร สามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรการศึกษาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อสร้างพื้นที่ การพัฒนาให้เด็กพิการได้พัฒนาตนเองและครอบครัวตามปรัชญา “เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง”
|